วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2550

นางสาวสยาม ยุคที่ 1 : พ.ศ. 2477 - 2483 ( นางงามพระนคร ) ( ยุค 1) Miss Siam ( Miss Pranakorn )



ตามประวัติการประกวดนางสาวไทยนั้น แบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน

ยุคแรก คือ พ.ศ.2477 ถึง พ.ศ.2483 และ พ.ศ.2491 ถึง พ.ศ.2497
ยุคที่สอง คือ พ.ศ.2507 ถึง พ.ศ.2515
ยุคที่สาม คือ พ.ศ.2527 ถึงปัจจุบัน

ตามที่ทราบว่าการประกวดนางงามในบ้านเรา มีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๗๗ จัดขึ้นในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญอันยิ่งใหญ่ ที่ทางการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก


ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เรียกชื่อเป็น ‘การประกวดนางสาวสยาม’ ตามชื่อประเทศก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย การประกวดนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสีสันสำคัญในงานฉลอง
ในที่สุดสาวงามจากพระนครวัย ๒๐ ปี ‘กันยา เทียนสว่าง’ ก็เป็นผู้พิชิตตำแหน่งแห่งเกียรติยศ และเป็นผู้เปิดตำนานความงามของไทย












2477 : 1934

กันยา เทียนสว่าง : Kanya Teinsawang



กันยา เทียนสว่าง (นางสาวไทยคนแรก พ.ศ.2477)

ในยุคนั้น ชื่อตำแหน่งเป็น Miss Siam ( Miss Pranakorn ) นางสาวสยาม ( นางงามพระนคร )
การประกวดนางสาวสยามครั้งแรกได้จัดขึ้นในบริเวณ สวนสราญรมย์ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2477 ซึ่งนับเป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานอันประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นและมีคณะกรรมการตัดสิน อันได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาและ เจ้าพระยารามราฆพ เป็นต้น
ในปีนั้นมีผู้สมัครทั้งสิ้น 50 รายเศษ มีวิธีการคัดเลือกนางงามโดยแบ่งการประกวดเป็น 4 คืน กำหนดให้คืนวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2477 เป็นวันตัดสินและมีผู้เข้ารอบสุดท้ายเพียง 16 คนปรากฏกายบนเวทีประกวดในชุดที่กำหนดให้ใส่ประกวดคือ ชุดราตรีสโมสรในที่สุด กันยา เทียนสว่าง นางงามจากจังหวัดพระนครก็ได้รับการตัดสินด้วยมติเอกฉันท์ ให้เป็นนางสาวสยามคนแรกแห่งสยามประเทศ

''กันยา'' มีนามเดิมว่า ''ลูซิล'' เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2456 ขณะที่เข้าประกวดมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ด้วยเหตุที่เธอมีใบหน้าอันคมคายค่อนไปทางฝรั่ง จมูกโด่งริมฝีปากบาง รูปร่างสูง ทรวดทรงสมส่วนมีผิวเนื้อสองสีแต่ค่อนข้างขาวตามแบบชาวสยามโดยสมบูรณ์จึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของผู้เฝ้าชมการประกวดโดยทั่วไปในปีนั้น

หลังจากพ้นตำแหน่งนางสาวสยามเธอเข้าพิธีสมรสกับ ดร. สุจิต หิรัญพฤกษ์ มีบุตรธิดาทั้งสิ้น 5 คน และกันยาได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในมดลูกโดยปิดฉากชีวิตด้วยวัยเพียง 46 ปี


เป็นลูกครึ่งคนแรกหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ว่าชื่อภาษาอังกฤษว่า ลูเซีย-สวย-สวยจนสุดท้ายเลย ประวัติชีวิตดีมากเลย รุ่นแรก ๆ ประวัติจะดีมากทุกคน ประวัติอย่างนี้มีในหนังสือพิมพ์สมัยก่อน อย่างสุชีลาเคยเล่นหนังด้วยนะสองเรื่อง แต่จำชื่อไม่ได้ ไม่ดังตอนหลังก็เลยไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ก่อนรุ่นที่สองนั้น 4 ปีมีประกวดมา 4 ครั้ง ใช้ชื่อการประกวด การแต่งกายสุภาพสตรีงาม ปีแรก พ.ศ.2503 รัชนี บุญญานันท์ ได้ ถัดมาอีก 3 ปีมี พ.ศ.2504 นงคราญ กลสุต พ.ศ.2505 จิตตรา ไวถนอมสัตว์ และ พ.ศ.2506 พนิดา มหาวงศ์
เรื่องราวของคุณกันยา เทียนสว่าง หรือหิรัญพฤกษ์ ภายหลังแต่งงาน ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ใกล้ชิดตลอดจนผู้คนร่วมสมัยและผู้ที่สนใจ แม้ว่าเธอจะจากไปกว่า ๔๕ ปีแล้ว





“เกี่ยวกับเรื่องการประกวด แม่ไม่ค่อยเล่าให้ฟังหรอกค่ะ อาจเป็นเพราะเรายังเด็กกัน ก็ไม่กล้าซักไม่กล้าถามอะไร อีกอย่างที่บ้านเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องชื่อเสียง ทำให้รู้เรื่องส่วนนี้ของแม่น้อยมาก”
คุณสุกันยา นิมมานเหมินท์ ลูกสาวคนแรกของคุณกันยา พูดถึงคุณแม่ด้วยน้ำเสียงสดใส
“เคยถามเรื่องมงกุฎเหมือนกัน แม่บอกว่าถูกขโมยไปแล้ว ตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงาน เรื่องประกวดที่ทราบก็ฟังจากผู้ใหญ่เล่า คือเวลาไปประกวด แม่แอบหนีไปประกวดนะคะ

หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ท่านทราบดี เพราะท่านก็ได้ช่วยแต่งตัวให้เข้าประกวด ตอนนั้นแม่อยู่กับคุณยายที่โรงเรียนสวนเด็ก คุณยาย ท่านนี้เป็นญาติกัน เพราะแม่เป็นลูกกำพร้า…แล้วทางนี้เขาเป็นมอญ ตระกูลแม่มีเชื้อสายมอญค่อนข้างถือเรื่องศักดิ์ศรี
เพราะฉะนั้นการไปทำเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าอับอายสำหรับพวกเขา พอวันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ลงข่าวการประกวด คุณยายอายมาก แม่ก็ถูกเอ็ดถูกต่อว่าใหญ่เลย ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งทำให้แม่ไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเท่าไหร่…
คือแม่เสียตอนดิฉันอายุ ๑๕ ดิฉันเป็นลูกคนโตในจำนวนลูก ๕ คน ตอนเด็กก็เคยมีคนบอกนะคะว่าเราเป็น ‘สำเนากันยา’ แต่ยิ่งโตมาก็ยิ่งไปเหมือนพ่อ ไม่ค่อยเหมือนแม่เท่าไหร่ คือแม่จะสวย หน้าตาคมคาย ตาโตคล้ายๆ แขก”
การประกวดเป็นเพียงเรื่องราวเสี้ยวหนึ่งที่ลูกๆ ได้รู้จักคุณแม่ในฐานะผู้เป็นตำนานนางสาวไทยคนแรก ทว่าความทรงจำที่มีต่อคุณแม่แล้ว มีสิ่งให้จดจำไม่มีที่สิ้นสุด
“ถึงอยู่กับแม่ไม่นาน แต่ก็ภูมิใจที่แม่เป็นแม่ ท่านไม่ค่อยเข้มงวด เพียงแต่สอนมารยาทมั่ง อะไรมั่ง ไม่เคยว่า ดุเท่าที่จำเป็น ตอนนี้ยิ่งแก่ตัวยิ่งคิดถึงแม่ค่ะ ถึงแม่จากไปแล้ว แต่ก็จะมีคนพูดถึงคุณแม่อยู่เสมอค่ะ เพราะคุณแม่เป็นคนดี จิตใจดี เป็นคนที่รื่นเริงตลอด
ทำให้คนที่อยู่รอบข้างสนุกสนาน หัวเราะได้ตลอด ส่วนความทุกข์ก็เก็บไว้ แล้วแม่ก็ชอบช่วยเหลือทุกคน งานสังคมสงเคราะห์แม่ก็ชอบทำ ที่ไปบ่อยๆ ก็ไปช่วยงานสโมสรวัฒนธรรมหญิง เพราะแม่นับถือกับท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ท่านก็เรียกตัวไปช่วย ส่วนตัวแม่เป็นแม่บ้านแม่เรือนค่ะ ชอบทำกับข้าว เย็บปักถักร้อย เป็นคนรักสวยรักงาม ช่างแต่งตัว เสื้อผ้าแม่ก็ต้องตัดเย็บเอง
ชอบตัดเสื้อผ้าให้ลูกๆ เหมือนกันหมดทั้ง ๕ คน แบบผู้ชาย แบบผู้หญิง … แม่เป็นผู้หญิงชาวบ้าน ก็เลี้ยงลูกแบบธรรมดา ไม่ได้เอาอกเอาใจ … แต่พ่อกับแม่เลี้ยงลูกแบบฝรั่ง คือให้มีเสรีภาพทางความคิดและการดำเนินชีวิต”

ในสายตาของลูกๆ แล้ว คุณกันยาเป็นผู้หญิงทีมีความเข้มแข็งและอดทนสูง
“แม่เป็นคนไม่ให้ใครต้องมากังวลว่าแม่เจ็บปวด หรือไม่สบาย ตอนเจ็บหนักก่อนที่แม่จะเสีย คือแม่เป็นมะเร็ง ช่วงนั้นแม่นอนเจ็บ แต่ก็ไม่เคยแสดงความเจ็บให้ใครเห็นเลย จนตายก็ไม่เคยร้อง อย่างมากถ้าเจ็บ แม่ก็หน้านิ่วคิ้วขมวด
แม่เป็นคนที่กล้าหาญและเข้มแข็งมากค่ะ เพราะว่ากลัวลูกจะเสียใจ ความที่ไม่ต้องการให้คนอื่นเสียใจ ก็ไม่แสดงอะไรออกมาให้เห็น ทุกข์ก็ทุกข์คนเดียว ขอทำให้คนอื่นมีความสุข นั่นคือแม่ เพราะฉะนั้น คนจะนึกถึงแม่ในความดีของแม่ ความเป็นตัวแม่ มากกว่าการที่ได้เป็นนางสาวสยาม”


...................................











2478 : 1935

วณี เลาหเกียรติ : Wanee Laohakeit


วณี เลาหเกียรติ นางสาวสยามปี พ.ศ. 2478

ปีถัดมาก็ได้มีการจัดประกวดนางสาวสยามขึ้นอย่างต่อเนื่องคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกนางงามอย่างละเอียดลออ โดยพิจารณาจากทรวดทรงผิวเนื้อ ตลอดจนเส้นผม และฟัน เป็นต้น ส่วนชุดที่กำหนดให้นางงามสวมใส่ในการประกวดบนเวทีนั้นคือ ชุดไทย ห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นยาวกรอมเท้าและมิให้สวมใส่รองเท้าเดินประกวดบนเวทีสาวงามที่ได้รับตำแหน่งนางสาวสยาม ปี พ.ศ. 2478 คือ วณี เลาหเกียรติ ซึ่งเป็นนางงามจากพระนครเช่นเดียวกับปีที่แล้วมาผู้ที่ทำหน้าที่สวมมงกุฎให้นางงามในปีนั้นคือ หม่อม กอบแก้ว อาภากร โดยมี นางสาวนครสวรรค์ ยินดี บุหงางาม เป็นนางงาม ลำดับที่ 2

''วณี'' เป็นสาวงามที่มีใบหน้างดงาม ยิ้มหวานหยด เธอนับถือศาสนาคริสต์และเป็นธิดาคนเดียวของพ่อแม่ มีย่าเป็นเจ้าของห้างใหญ่ที่มีชื่อในสมัยนั้นทั้งยังเป็นเจ้าของที่ดินมากมาย จัดว่าเป็นผู้มีฐานะดีพอสมควรในขณะที่เข้าประกวดสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และกำลังจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทว่าได้มาเป็นนางสาวสยาม ปีพ.ศ. 2478 เสียก่อน หลังจากได้รับตำแหน่งนางสาวสยาม 4 ปีเธอได้เข้าพิธีสมรสกับ นายแพทย์มานิตย์ สมประสงค์ ขณะอายุ 20 ปี มีบุตรธิคา ทั้งสิ้น 3 คน ปัจจุบัน วณี ในวัย 87 ปี มีความสุขกับลูกหลาน ทั้งยังได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศสหรัฐอเมริกาบ้างเป็นครั้งคราว

........................................................



2479 : 1936

วงเดือน ภูมิรัตน์ : Wongdern Bhumirat


วงเดือน ภูมิรัตน์ นางสาวสยาม ปี พ.ศ. 2479

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 ได้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเครื่องแต่งกายอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดให้นุ่งผ้าลายโจงกระเบน ห่มสไบจีบ ทิ้งชายลงเบื้องหลังการประกวดในปีนั้นมีจำนวนผู้เข้าประกวดมากมายถึง 200 กว่าคน โดยมีสาวงามที่ได้รับการจับตามองมาโดยตลอด คือ วงเดือน ภูมิรัตน์ และผลการประกวดก็เป็นไปตามความคาดหมาย ''วงเดือน'' เป็นนางสาวสยามคนที่สามต่อจาก กันยา และวณี ''วงเดือน'' เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรีคนที่ 6 ในจำนวนบุตรทั้งหมด 10 คน ของ พระพิชัยบุรินทรา (สอาด ภูมิรัตน์) ผู้เคยเป็นเจ้าเมืองพระประแดงและเมืองสมุทรสาคร และ คุณนายเล็ก ภูมิรัตน์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสมุทรสาครต่อมาได้ศึกษาความรู้ด้านการเรือน เช่นการจัดดอกไม้การจัดโต๊ะอาหารทางไปรษณีย์ที่โรงเรียนภาณุทัต เธอร่วมเข้าประกวดในนามหนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ขณะรับตำแหน่งนางสาวสยามมีอายุเพียง 14 ปี นับเป็นนางสาวพระนครคนที่สามที่ได้ครองตำแหน่งนางสาวสยาม


.......................................................




2480 : 1937

มยุรี วิชัยวัฒนะ : Mayuree Wichaiwattana



มยุรี วิชัยวัฒนะ นางสาวสยาม ปี พ.ศ. 2480
การประกวดนางสาวสยามปี พ.ศ. 2480 มีผู้เข้าประกวดคับคั่งเช่นเคย รวมทั้งมี 2 อดีตนางสาวสยาม วณี เลาหเกียรติ และ วงเดือน ภูมิรัตน์ ร่วมประกวดด้วยอีกครั้ง เนื่องจากยังไม่มีข้อห้ามอดีตนางสาวสยามเข้าประกวดจึงมีผู้ใหญ่ในวงสังคมขณะนั้นขอร้องให้เธอทั้งสองเข้าประกวดเพื่อเป็นการช่วยชาติ แต่ถึงอย่างไรก็ตามในที่สุดผู้ชนะเลิศที่ได้รับการคัดเลือกให้ครองตำแหน่งนางสาวสยาม ปีพ.ศ. 2480 ก็คือ นางสาวมยุรี วิชัยวัฒนะ สาวงามจากกรุงเทพฯผู้ซึ่งได้รับการทาบทามจากท่านข้าหลวงจังหวัดอยุธยาให้เข้าร่วมประกวดในฐานะที่เป็นตัวแทนของจังหวัดอยุธยานั่นเอง ด้วยความที่เป็นสาวน้อยดวงตาคมวงหน้าหวาน รอยยิ้มละมุน ผิวสีน้ำผึ้ง สมเป็นสตรีไทยอย่างแท้จริง

''มยุรี''ได้รับการคัดเลือกเป็นนางสาวสยามคนที่ 4 ขณะอายุ 16 ปี เธอเป็นธิดาของช่างชุบทอง เกิดและเติบโต ย่านเสาชิงช้า เคยย้ายไปใช้ชีวิตอยู่แถวบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ้านเดิมของผู้เป็นมารดา จากนั้นอายุ 12 ปี เธอจึงย้ายกลับมายังพระนครอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเข้าประกวดนางสาวสยาม จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมที่ ๑ หลังจากรับตำแหน่งนางสาวสยามไม่ครบปี มยุรีได้ เข้าพิธีสมรสกับ ร้อยโท อาจ เจริญศิลป์ มีบุตรธิดารวม 5 คน

................................................




2481 : 1938
1. พิสมัย โชติวุฒิ : Pissamai Chotiwut
2. เสริมสุข จันทรเวคิน : Sermsuk Jantaravekin
3. ลำดวน ดับทุกข์รัฎฐ์ : Lamduan Dabtukrat
4. สันทนา ลิมปิติ : Luntana Limpiti
5. สุคนธ์ นาวารัตน์ : Sukhon Navarat



ปีพ.ศ. 2481 การแต่งกายของผู้เข้าประกวดยังคงเป็นเช่นเดิมในชุดห่มสไบจีบนุ่งผ้าโจงกระเบน เช่นเดียวกับปีก่อน แต่ในส่วนของการตัดสินนั้นได้มีการเพิ่มตำแหน่งรองนางสาวสยามขึ้นอีก 4 ตำแหน่ง สาวงามที่เข้าร่วมประกวดชิงตำแหน่งนางสาวสยามในปีนั้นมีถึง 101 คน แต่มีโอกาสขึ้นเวทีประกวดเพียง 94 คน เนื่องจากคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกำหนดในเรื่องของอายุที่ไม่ถึงเกณฑ์ประกวดและผลการคัดเลือก ก็เป็นไปตามความคาดหมายเช่นเคย นางสาวพิสมัย โชติวุฒิ สาวงามจากอำเภอบ้านทวาย จ.พระนคร คือผู้ที่ได้รับประชามติจากคณะกรรมการตัดสินให้ครองตำแหน่งนางสาวสยาม ปีพ.ศ. 2481 โดยมีรองนางสาวสยาม 4 คน ประกอบด้วย เสริมสุข จันทรเวคิน , ลำดวน ดับทุกข์รัฏฐ์ , สันธนา ลิ้มปิติ และ สุคนธ์ นาวารัตน์ ตามลำดับ
1
แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นชัยชนะครั้งแรกบนเวทีนางสาวสยามของพิสมัยแต่เป็นการประกวดครั้งที่ 2 ของเธอ เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2480 เธอได้เข้าร่วมประกวดแล้วครั้งหนึ่ง แต่พลาดตำแหน่งไปอย่างน่าเสียดาย
''พิสมัย'' ได้รับคัดเลือกและตัดสินให้เป็นนางสาวสยามคนที่ 5 ด้วยวัย 18 ปี ซึ่งขณะเข้าประกวดเธอมีความสวยเด่นมาแต่ต้น และมีความงามพร้อมกว่าปีก่อนจึงกำชัยชนะไปในที่สุดเธอเป็นบุตร คนสุดท้องของครอบครัวพี่น้องจำนวน 8 คน จบการศึกษาจากโรงเรียนราษฎร์วิทยา หลังจากครองตำแหน่งนางสาวสยามปีเศษเธอได้เข้าพิธีสมรสกับ นายเล็ก ตันเต็มทรัพย์ ผู้มีอาชีพทนายความในขณะนั้นพิสมัย กำเนิดบุตรชาย 2 คน เธอมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น และสมบูรณ์ ก่อนจะปิดฉากชิวิตลงด้วยวัย 67 ปี ด้วยโรคหัวใจในปีพ.ศ. 2531

.......................................

2482 : 1939
1. เรียม เพศยนาวิน : Riam Pessayanavin
2. มาลี พันธุมจินดา : Malee Pantumajinda
3. เจริญศรี ปาศะบุตร์ : Jarernsri Pasabut
4. ลำยอง สู่พาณิชย์ : Lamyom Suupanich
5. เจียมจันทร์ วานิชาจร : Jiamjan Wanichajorn



การประกวดนางสาวสยามในครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อการประกวดจาก นางสาวสยาม ให้เป็น ''นางสาวไทย'' ตามชื่อประเทศที่เปลี่ยนใหม่ รวมไปถึงเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้เข้าประกวดซึ่งได้ระบุให้เป็นชุดกระโปรงระดับความยาวครึ่งเข่าเชื่อมติดกับตัวเสื้อซึ่งมีสายโยงโอบอ้อมด้านหน้าไปผูกกันที่ด้านหลังซึ่งเว้าลึกลงมาถึงครึ่งหลัง ผลการตัดสินในคืนประกวดวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2482 โฆษกประจำงานได้ประกาศชื่อ เรียม เพศยนาวิน ซึ่งส่งเข้าประกวดโดยอำเภอยานนาวา ให้เป็นผู้ครองตำแหน่งนางสาวไทย ท่ามกลางรองนางสาวไทยทั้ง 4 อันดับ ประกอบด้วย มาลี พันธุมจินดา รองอันดับ 1 เทียมจันทร์ วานิชขจร รองอันดับ 2 เจริญศรี ปาศะบุตร รองอันดับ 3 และ ลำยอง สู่พานิชย์ รองอันดับ 4 ตามลำดับ

เรียม แพศยนาวิน นางสาวไทย ปีพ.ศ. 2482
''เรียม'' ได้รับคัดเลือกเป็นนางสาวไทยคนที่ 6 ของประเทศ ขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 16 ปี เป็นบุตรสาวคนโตจากพี่น้องจำนวน 7 คน ของ นายสุมิต ผู้เป็นบิดาชาวอิสลาม แต่มารดาของเธอเป็นชาวจีน เกิดที่อำเภอบางรัก พระนคร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนมหัสดัมอิสลามวิทยาลัย หลังจากรับตำแหน่งนางสาวไทย กว่า 10 ปี จึงได้เข้าพิธีสมรสกับ เอช เอช ซุดพัตรา ชามา ลุลลาอิล ราชาแห่งรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย มีโอรสธิดารวม 4 องค์ เรียม หรือ รานีซุดพัตรา ชามาลุลลาอิล ตวนมาเรียม ถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหันด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลันในปี พ.ศ. 2529 สิริอายุรวม 64 ปี
อนึ่งนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ เรียม นับเป็นสาวมุสลิมเพียงคนแรก และคนเดียวเท่านั้นที่ได้ครองตำแหน่งนางสาวไทย
.....................................................


2483 : 1940

1. สว่างจิต คฤหานนท์ Sawangjit Karuharnon
2. อารี ปิ่นแสง : Aree Pinsaeng
3. สมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์ : Somjit Limpaiboon
4. ประชัญ ศิวเสน : Prachan Quesain
5. ฉลาด ลิ่มสวัสดิ์ : Chalard Limsawad


สว่างจิตต์ คฤหานนท์ นางสาวไทย ปีพ.ศ. 2483
การประกวดนางสาวไทยปีพ.ศ. 2483 ได้เริ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองรอบด้านที่แม้จะเริ่มส่อเค้าของการสู้รบตามแนวพรมแดนด้านอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส หากการดำเนินการประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญก็ยังคึกคักไปด้วยฝูงชนที่เข้ามาร่วมงานมากมาย ปีนั้นการฉลองเป็นไปอย่างครึกครื้น โดยเฉพาะบนเวทีการประกวดนางสาวไทยที่มีการประกวดถึง 5 คืน ระหว่างวันที่ 8-12 ธันวาคม การแต่งกายถูกกำหนดให้ผู้เข้าประกวดต้องใส่ชุดเสื้อแขนกุดเปิดหลังเช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากกระโปรงยาวคลุมเข่า มาเป็นกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเพื่อโชว์ส่วนขาอ่อน และแล้วสาวงามผู้ได้รับการคัดเลือกให้ครองตำแหน่งนางสาวไทยด้วยคะแนนชนะเลิศชนิดลอยลำคือ สว่างจิตต์ คฤหานนท์ ผู้ซึ่งคณะกรรมการประชาชนอำเภอยานนาวาส่งเข้าประกวด ส่วนผู้ครองตำแหน่งรองนางสาวไทยอีก 4 คนได้แก่ สมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์, อารี ปิ่นแสง, สะอาด ลิ่มสวัสดิ์ และประชิญ ศิวเสน

''สว่างจิตต์'' เป็นธิดาของ พันโท พระแกล้วกลางณรงค์ และ นางสาคร คฤหานนท์ ขณะรับตำแหน่งนางสาวไทยนั้นมีความรู้จบชั้นมัธยมบริบูรณ์ และเป็นนางสาวไทยที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมดังที่หญิงไทยพึงมีหลายประการ สว่างจิตต์ เข้าพิธีสมรสกับ เรืออากาศเอก ระริน หงสกุล มีบุตร ธิดารวม 3 คน ปัจจุบัน คุณหญิง สว่างจิตต์ หงสกุล ใช้ชีวิตอย่างสงบ ในวัย 82 ปีท่ามกลางลูกหลานอย่างมีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น: